RMUTI KKC History

 

              วิทยาเขตขอนแก่น

วิทยาเขตขอนแก่น ได้ก่อตั้งในสังกัดกองโรงเรียนพาณิชย์และอุตสาหกรรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ “วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น” ในวันที่ 1 ตุลาคม 2506
ไทยและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้มีการลงนามในการให้ความร่วมมือช่วยเหลือรัฐบาลจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านช่างฝีมือให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และได้เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นสถานที่ตั้ง จึงใช้ชื่อเรียกว่า “วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น” แต่บุคคลทั่วไปนิยมเรียกว่า “เทคนิคไทย- เยอรมัน” สังกัดกองโรงเรียนพาณิชย์และอุตสาหกรรม กรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ โดยจังหวัดขอนแก่นได้นำที่ดินสาธารณะประโยชน์ ถนนศรีจันทร์อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออกเป็นสถานที่จัดตั้ง มีเนื้อที่ 36 ไร่ ต่อมาได้ที่ดินจากโรงเรียนบ้านหนองใหญ่และซื้อจากเอกชนอีกรวมเนื้อที่ปัจจุบัน จำนวน 101 ไร่ 3 งาน

พ.ศ. 2507 ได้เปิดรับสมัครและสอบคัดเลือกนักศึกษารุ่นแรกโดยใช้โรงเรียนสนามบินเป็นสถานที่ในการสอบคัดเลือกนักศึกษารุ่นแรก มีผู้มาสมัครสอบ306 คน คัดเลือกไว้เพียง 52 คน นักศึกษาปีที่ 1เรียนและปฏิบัติงานพื้นฐานฝึกฝีมือเหมือนกันทุกแผนกจะแยกตามความถนัดในชั้นปีที่ 2ซึ่งมีทั้งหมด 4 แผนก ได้แก่ ช่างกลโรงงาน ช่างท่อและประสาน ช่างไฟฟ้า และช่างเขียนแบบ เปิดเรียนครั้งแรกโดยขอใช้ห้องเรียนของโรงเรียนการช่างชาย(วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นปัจจุบัน) เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน ในปีเดียวกันจึงได้ย้ายมาเรียนที่โรงฝึกงานแผนกช่างไฟฟ้า (แผนกช่างท่อและประสานโรงงาน 2 ปัจจุบัน ) เมื่ออาคารเรียน 1 สร้างเสร็จจึงใช้เรียนวิชาสามัญและใช้เป็นอาคารอำนวยการด้วย สำหรับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนั้นสิ้นสุดลงเมื่อเดือนมีนาคม 2518 แต่ทางรัฐบาลเยอรมันยังให้ความช่วยเหลือในการจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ฝึกปฏิบัติบางชนิดสำหรับเครื่องจักรตามโรงงานต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุนแก่อาจารย์และนักศึกษาในการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเรื่อยมา

14 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ เสด็จมาทรงเป็นประธานพิธีเปิดวิทยาลัยฯ ทรงปลูกต้นประดู่เพื่อเป็นสิริมงคล บริเวณหน้าสถาบันอันเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและยั่งยืน สถาบันฯ จึงถือเอาวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาตลอดมา ในปี2513 ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างเครื่องกลและช่างไฟฟ้าทั้งภาคปกติ และภาคนอกเวลาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) 5 สาขา เรียนระหว่างเวลา 14.20 น.–20.00น. และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 15.15 น. ปี 2515 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และ ปี 2516 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคนอกเวลาหลักสูตร 2 ปี 6 เดือน ในสาขาวิชาช่างกลโรงงาน ช่างยนต์ ช่างท่อและประสานช่างไฟฟ้าและช่างก่อสร้าง สัญญาความช่วยเหลือของรัฐบาลเยอรมันสิ้นสุด แต่ยังคงเหลือผู้เชี่ยวชาญไว้ 1 คน และเปิดสาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

27 กุมภาพันธ์ 2518 วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ได้โอนรวมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา แล้ว เปลี่ยนจาก วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นเป็น ” “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา – วิทยาเขตเทคนิคขอนแก่น” และในปี 2522-2526 เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม(ปม.) และหลักสูตร ประโยคครูมัธยมอาชีวศึกษา
(ปมอ.) ซึ่งสอนให้ผู้ได้รับทุนจากกรมอาชีวศึกษารวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกช่างโลหะ แผนกช่างโยธา แผนกช่างกลเกษตร แผนกช่างวิศวกรรมเขียนแบบและออกแบบการผลิต

เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิค
ขอนแก่น ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น”สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น”
หรือที่บุคคลทั่วไปนิยมเรียกว่า….. “ราชมงคลขอนแก่น” ต่อมาในปี 2531 – 2537 ยกเลิกการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ปม.) และเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) สาขาวิศวกรรมเครื่องมือกล สาขาวิศวกรรมเชื่อมประกอบสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาเขียนแบบและออกแบบการผลิต (ภาคพิเศษ)
สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (ภาคสมทบ) สาขาวิศวกรรมโยธา ก่อสร้าง (ภาคสมทบ) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ไฟฟ้ากำลัง สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคม เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาการตลาด

18 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้มีการยกฐานะสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อ วันที่ 8 มกราคม 2548 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่18 มกราคม 2548 พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2548 เป็นต้นมา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพร้อมกัน ทั้ง 9  มหาวิทยาลัย